3| | |ยินดีต้อนรับสู่บล็อกของอัญชลี เรือนใจมั่น นะคะ| | |4>>

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

รู้อะไรเกี่ยวกับยานอนหลับไหม


โดมิคุม!!! อันตรายมากนะรู้ไหม??




โดมิคุม (Dormicum) เป็นยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (Benzodiazepine) มีชื่อทางเคมีว่ามิดาโซแลม (Midazolam) ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เนื่องจากเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 ที่มีการควบคุมให้ซื้อได้เฉพาะโรงพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อรักษาผู้ป่วยของตนเอง

โดมิคุม เป็นยานอนหลับที่ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบความจำและพฤติกรรมมากกว่ายาตัวอื่นๆ พบรายงานการเกิดหลงลืมได้บ่อย นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการสับสน หรือในบางรายอาจมีอาการประสาทหลอนเหมือนผู้ป่วยโรคจิตได้ ดังนี้จึงควรระวังการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ

ข้อห้ามใช้
1. ผู้ที่มีประวัติเคยติดยาหรือติดเหล้า
2. สตรีมีครรภ์และระยะให้นมบุตร โดยเฉพาะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
3. ไม่ควรใช้ในเด็กเพราะยังไม่มีข้อมูลการใช้เพียงพอ
4. ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาโดมิคุม
5. ผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดมุมแคบ (narrow-angle glaucoma) แบบเฉียบพลัน
6. ผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดมุมเปิด (open-angle glaucoma) ที่ไม่ได้รับการรักษา

โดมิคุม ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรม ด้วยหาซื้อโดยผิดกฎหมายได้ง่าย เนื่องจากมีการประกาศขายยาทางอินเทอร์เน็ตกันอย่างโจ่งแจ้ง มีบริการส่งถึงที่ พร้อมบอกวิธีใช้ในทางที่ผิดอย่างละเอียด ทำให้มิจฉาชีพสามารถก่ออาชญากรรมได้สะดวกและง่ายดาย

โดมิคุม มีคุณสมบัติที่สามารถละลายได้ดีในน้ำ ทำให้มีการนำยาเหล่านี้ไปละลายในเครื่องดื่ม เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เหล้า หรือเบียร์ เพื่อให้ผู้เสียหายดื่มโดยที่ไม่รู้ว่ามีการผสมยานอนหลับชนิดนี้ลงไปเพื่อปลดทรัพย์ หรือใช้มอมสาวเพื่อล่อลวงไปข่มขืน กรณีหลังนี้เรียกยานี้ว่า “ยาเสียสาว” สาเหตุที่ยาตัวนี้ถูกนำมาใช้ในการก่ออาชญากรรมมากกว่ายาชนิดอื่น เนื่องจากเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ประมาณ 15 นาที และมีผลข้างเคียงที่ทำให้ผู้ที่ รับประทานยาจะสูญเสียความทรงจำไปชั่วขณะ คือ ช่วงที่รับประทานยาและหลังจากรับประทานยาเข้าไปจนกระทั่งหลับ ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพนำผลข้างเคียงนี้มาใช้เพื่อทำให้ผู้เสียหายลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อตื่นขึ้นมาและไม่สามารถติดตามจับกุมตนเองได้นั่นเอง

ดังนั้น เพื่อป้องกันตนเองจึงควรที่เราจะต้องเพิ่มความระมัดระวังตนเองให้มากขึ้น ทั้งจากคนแปลกหน้าหรือแม้กระทั่งคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย ไปเที่ยว หรือรับเครื่องดื่มหรืออาหารจากผู้อื่นมาบริโภค ทั้งแก้วน้ำหรือยาชนิดใดที่ไม่รู้จัก แล้วอ้างว่าเป็นยาบำรุง หรือยาแก้หวัด ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการตกเป็นผู้เสียหายได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น